ที่มาของ “กฎบอสแมน” เพื่ออิสรภาพของนักเตะ หลังหมดสัญญากับสโมสร

กฏบอสแมน คือกฎที่ทำให้นักฟุตบอลไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของสัญญาทาส ทำให้นักเตะทุกๆคนสามารถตัดสินใจได้ว่าเมื่อหมดสัญญาปัจจุบันกับสโมสร จะต่อสัญญากับสโมสรเดิมหรือเลือกเซ็นสัญญากับสโมสรใหม่

การย้ายทีมของนักเตะก่อนมีกฏบอสแมนระบุไว้ว่า นักเตะมีสิทธิ์ย้ายทีมได้ก็ต่อเมื่อสโมสรปัจจุบันและสโมสรใหม่ได้ตกลงเรื่องค่าตัวนักเตะกันเรียบร้อยแล้ว แม้ว่านักเตะจะหมดสัญญากับสโมสรเดิมไปแล้วก็ไม่สามารถเซ็นต์สัญญากับสโมสรแห่งใหม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากสโมสรเดิมของนักเตะแล้วเท่านั้น

ฌอง – มาร์ค บอสแมน
ฌอง – มาร์ค บอสแมน

ฌอง – มาร์ค บอสแมน ( Jean-Marc Bosman )

คือผู้ที่ทำให้กฎบอสแมนเกิดขึ้นในวงการฟุตบอล โดยในปี ค.ศ.1988 บอสแมนได้เซ็นสัญญากับสโมสรลีแอช ซึ่งอยู่ในดิวิชั่น 2 ของเบลเยียม หลังจากที่ทำผลงานได้ดีจึงเป็นที่สนใจของสโมสรอื่นๆ เมื่อบอสแมนหมดสัญญากับสโมสรลีแอชในปี 1990 สโมสรดันเคิร์กในฝรั่งเศสได้ติดต่อเขาไปร่วมทีม ภายใต้ข้อเสนอสัญญา 1 ปี พร้อมกับค่าเหนื่อย 100,000 ฟรังก์เบลเยี่ยมต่อเดือน บวกเงินโบนัส 900,000 ฟรังก์เบลเยียม

โดยสโมสรดันเคิร์กได้ตกลงกับสโมสรลีแอช ว่าจะมีการเซ็นสัญญาเป็นการชั่วคราว 1 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 1,200,000 ฟรังก์เบลเยียม และมีเงื่อนไขพิเศษให้สโมสรดันเคิร์กสามารถซื้อตัวบอสแมนไปร่วมทีมได้หลังหมดสัญญา 1 ปีไปแล้ว โดยดันเคิร์กต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 4,800,000 ฟรังก์เบลเยียม

การย้ายทีมของ ฌอง – มาร์ค บอสแมน เหมือนจะเป็นไปด้วยดี แต่ปรากฏว่าสโมสรเดิมอย่างลีแอชกลับไม่ส่งใบสัญญาไปให้สมาคมฟุตบอลในฝรั่งเศสตามกฏการย้ายทีม ที่ระบุว่าต่างฝ่ายต่างต้องมีใบสัญญาของตัวเองด้วย เพราะลีแอชกลัวว่าดันเคิร์กจะไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ตามข้อกำหนด เนื่องจากตอนนั้นดันเคิร์กกำลังประสบปัญหาทางการเงิน จึงมีเพียงดันเคิร์กเท่านั้นที่ส่งใบสัญญาย้ายทีมให้กับสมาคมฟุตบอลฝรั่งเศส การย้ายทีมของ ฌอง – มาร์ค บอสแมน จึงเป็นอันต้องยกเลิกไปในที่สุด

นอกจากนั้นสโมสรลีแอชยังโก่งค่าตัวของบอสแมนมากกว่าค่าตัวที่สโมสรซื้อมาถึง 8 เท่า ทำให้ดันเคิร์กไม่พอใจ หลังจากที่การย้ายทีมล้มเหลว บอสแมนที่หมดสัญญาไปแล้วยังถูกลีแอชกดดันอย่างหนักด้วยการลดเงินค่าจ้างลงถึง 60% จากเดิมที่ได้ 120,000 ฟรังก์เบลเยียม ลดลงมาเหลือเพียง 30,000 ฟรังก์เบลเยียม ซึ่งนับเป็นเงินค่าจ้างในอัตราที่ต่ำที่สุดในเบลเยียม โดยทางสโมสรให้เหตุผลไว้ว่าบอสแมนไม่ได้เป็นผู้เล่นในทีมชุดใหญ่ของสโมสรอีกต่อไปแล้ว

ด้วยเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น ฌอง – มาร์ก บอสแมน ไม่พอใจอย่างมากที่ตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงได้เริ่มต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ที่เขาควรจะได้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ.1990 ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากสโมสรลีแอช และสมาคมฟุตบอลเบลเยี่ยม ศาสเบลเยียมได้ตัดสินสินให้บอสแมนสามารถย้ายไปเล่นกับ ดันเคิร์กได้แบบไม่มีค่าตัว ถึงแม้ว่าสมาคมฟุตบอลเบลเยี่ยมไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินจึงยื่นอุทธรณ์แต่ก็ไม่สำเร็จ ศาลได้ตัดสินเด็ดขาดให้เขามีสิทธิ์ย้ายทีมได้อย่างอิสระ ในเดือนพฤษภาคม ปี 1991

อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ.1992 บอสแมนเดินกลับมาเบลเยียมเพื่อรับเงินชดเชย แต่เขาถูกปฏิเสธการจ่ายเงินชดเชยจากกรณีที่ต้องเป็นนักเตะตกงาน บอสแมนจึงตัดสินใจเรียกร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้ง โดยยื่นฟ้องต่อศาลของสหภาพยุโรป(อียู) เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 1 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1995

ท้ายที่สุดทางสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป(ยูฟ่า) ได้ส่งจดหมายปิดผนึกสนับสนุนการกระทำของบอสแมน และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ(ฟีฟ่า)ก็เห็นดีด้วย ศาลอียูตัดสินให้บอสแมนเป็นผู้ชนะคดี โดยไม่อนุญาตให้มีการอุทรณ์ใดๆอีกต่อไป เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทำให้เกิดกฏการย้ายทีมรูปแบบใหม่ขึ้นมาโดยมีการตั้งชื่อตาม ฌอง – มาร์ก บอสแมน ว่า “กฏบอสแมน”